ทักษะการปิเปต

  1. ก่อนใช้ปิเปตต้องมีการทำความสะอาดโดยดูดน้ำกลั่นเข้าไปจนเกือบเต็ม แล้วปล่อยให้ไหลออกมาจนหมด สังเกตดูว่าถ้าไม่มีหยดน้ำเกาะติดอยู่ภายในแสดงว่าปิเปตสะอาดดีแล้ว
  2. เมื่อจะนำปิเปตที่เปียกไปใช้วัดปริมาตร ต้องล้างปิเปตด้วยสารละลายที่จะวัด 2-3 ครั้ง โดยใช้สารละลายครั้งละเล็กน้อยและให้สารละลายถูกผิวแก้วโดยทั่วถึง แล้วเช็ดปลายปิเปตด้วยกระดาษ tissue ที่สะอาด
  3. จุ่มปลายปิเปตลงในสารละลายที่จะวัดปริมาตร โดยที่ปลายปิเปตอยู่ต่ำกว่าระดับสารละลายตลอดเวลาที่ทำการดูด เพราะเมื่อใดที่ระดับของสารละลายในภาชนะลดลงต่ำกว่าปลายปิเปตในระหว่างที่ทำการดูด สารละลายในปิเปตจะพุ่งเข้าสู่ปากทันที

    ภาพที่ 5 ลักษณะการใช้ปิเปต
  4. ใช้ปากดูดหรือเครื่องดูดหรือกระเปาะยางดูดสารละลายเข้าไปในปิเปตอย่างช้าๆ จนกระทั่งสารละลายขึ้นมาอยู่เหนือขีดบอกปริมาตร และใช้นิ้วชี้ปิดปลายปิเปตให้แน่นโดยทันที จับก้านปิเปตด้วยนิ้วหัวแม่มือและนิ้วกลาง (ไม่ควรใช้ปากดูด ถ้าสารละลายนั้นเป็นสารที่มีพิษ หรือเป็นกรดแก่ ด่างแก่ ต้องใช้เครื่องดูดหรือกระเปาะยางต่อตอนบนของปิเปต)
  5. จับปิเปตให้ตั้งตรงแล้วค่อยๆผ่อนนิ้วชี้เพื่อให้สารละลายที่เกินขีดบอกปริมาตรไหลออกไปจนกระทั่งส่วนเว้าต่ำสุดของสารละลายแตะกับขีดบอกปริมาตรพอดี ปิดแน่นด้วยนิ้วชี้และ แตะปลายปิเปตกับข้างภาชนะที่ใส่สารละลาย เพื่อให้หยดน้ำซึ่งอาจจะติดอยู่ที่ปลายปิเปตหมดไป จับปิเปตให้ตรงประมาณ 30 วินาที่เพื่อให้สารละลายที่ติดอยู่ข้างๆ ปิเปตไหลออกหมด
  6. ปล่อยสารละลายที่อยู่ในปิเปตลงในภาชนะที่เตรียมไว้โดยยกนิ้วชี้ขึ้น ให้สารละลายไหลลงตามปกติตามแรงโน้มถ่วงของโลกจนหมด แล้วแตะปลายปิเปตกับข้างภาชนะเพื่อให้สารละลายหยดสุดท้ายไหลลงสู่ภาชนะ อย่าเป่าหรือทำอื่นใดที่จะทำให้สารละลายที่เหลืออยู่ที่ปลายปิเปตไหลออกมา เพราะปริมาตรของสารละลายที่เหลือนี้ไม่ใช้ปริมาตรของสารละลายที่จะวัด

ปิเปตที่ทำเป็นพิเศษเพื่องานที่ต้องการความแน่นอนมากๆ ที่กระเปาะของปิเปตจะบอกเวลาที่สารละลายไหลออกหมด ซึ่งเรียกว่า Time of outflow และเมื่อสารละลายไหลออกหมดแล้ว ต้องทิ้งไว้ระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเรียกระยะเวลานี้ว่า Time of drainage

หมายเหตุ

  1. การปรับปริมาตรของสารละลายให้อยู่ตรงขีดปริมาตรพอดีนั้น จะต้องไม่มีฟองอากาศเกิดขึ้น ณ บริเวณปลายของปิเปตหรือที่เรียกว่าการเกิด parallax
  2. ห้ามเป่าขณะทำการปล่อยสารละลายออกจากปิเปตอย่าเด็ดดาด เพราะการเป่าจะทำให้ผนังด้านในของปิเปตสกปรก และยังทำให้สารละลายที่ติดอยู่กับผนังด้านในของปิเปตแต่ละครั้งแตกต่างกันด้วย ทำให้การวัดปริมาตรของสารละลายที่วัดมีค่าไม่เท่ากันเมื่อได้มีการทดลองซ้ำ แต่ถ้าเป็น Measuring pipette ที่ผู้ผลิตทำรอยแก้วฝ้าที่ปลายบนหรือมีหนังสือแจ้งไว้ จะสามารถเป่าสารละลายออกจากปลายปิเปตนั้นได้
  3. หลังจากนำปิเปตไปใช้แล้ว จะต้องทำความสะอาดแล้วล้างด้วยน้ำกลั่นหลายๆ ครั้ง
  4. ถ้าหากกระเปาะยางหรืออุปกรณ์ดูดอื่นๆ ไม่มี อาจจะใช้สายยางหรือสายพลาสติกต่อกับก้านของปิเปตก็ได้