ทักษะการกรอง
เทคนิคเกี่ยวกับการกรอง
การกรองเป็นวิธีแยกของแข็งที่ไม่บริสุทธิ์ออกจากของเหลวหรือสารละลาย หรือเป็นการแยกสารที่เป็นของแข็งที่อยู่ในรูปของผลึกหรือตะกอนออกจากของเหลวหรือสารละลายโดยใช้ตัวกรอง เช่น กระดาษกรอง, Membrane filter ฯลฯ การกรองที่มีประสิทธิภาพดีนั้นขึ้นอยู่กับการเลือกอุปกรณ์ การกรองที่เหมาะสมกับลักษณะของตะกอนและใช้เทคนิคการทำที่ถูกต้อง ต่อไปนี้จะขอกล่าวถึงเทคนิคเกี่ยวกับการกรองที่สำคัญฯ
- การเลือกตัวกรอง
-
ตัวกรองมีหลายประเภท ผู้ทดลองจะใช้ตัวกรองประเภทใดนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะของตะกอนหรือสารที่ต้องการจะแยก รวมทั้งความต้องการที่จะแยกตะกอนทั้งหมดออกจากสารละลายให้มากน้อยเพียงใด ตัวกรองที่นิยมใช้กันทั่ว ๆ ไปมีดังนี้
- กระดาษกรอง
-
กระดาษกรองมีหลายชนิดแต่ละชนิดใช้ได้เหมาะสมกับลักษณะและขนาดของตะกอน ตลอดจนจุดประสงค์ของการแยกตะกอนด้วย เช่น กระดาษกรองที่ใช้ในคุณภาพวิเคราะห์ เป็นกระดาษกรองที่เมื่อเผาแล้วมีปริมาณของขี้เถามากพอสมควรคือประมาณ 0.7-1.0 มก. สำหรับกระดาษที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 9 ซม. กระดาษกรองชนิดนี้ จึงไม่เหมาะในปริมาณวิเคราะห์แต่นำไปใช้อย่างกว้างขวางในการทำสารละลายใสหรือแยกของแข็งออกจากสารละลายทั่ว ๆ ไป สำหรับกระดาษกรองที่จะใช้ในปริมาณวิเคราะห์นั้นเป็นกระดาษกรองที่เมื่อนำไปเผาแล้วจะมีปริมาณของขี้เถ้าน้อย หรือไม่มีขี้เถ้าเลย เมื่อเผากระดาษกรองชนิดที่มีขี้เถ้าน้อยขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 11 ซม. จะมีขี้เถ้าอย่างต่ำประมาณ 0.06 มก. ส่วนชนิดไม่มีขี้เถ้าเมื่อเผาแล้วจะมีขี้เถ้าประมาณ 0.0 มก. หรือน้อยกว่า ซึ่งน้ำหนักของขี้เถ้าดังกล่าวนี้นับว่าเป็นส่วนน้อยมาก ในปริมาณวิเคราะห์จึงตัดทิ้งได้ กระดาษกรองชนิดนี้จึงนิยมใช้ในปริมาณวิเคราะห์ทั่ว ๆ ไป กระดาษกรองอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า Hardened grade papers เป็นกระดาษกรองที่ใช้กับการกรองด้วยระบบสุญญากาศ เพราะมีพื้นผิวค่อนข้างแข็งเหนียวเมื่อเปียกมีทั้งชนิดธรรมดาและชนิดมีขี้เถ้าน้อยหรือไม่มีขี้เถ้าเลย
เนื่องจากกระดาษกรองมีขนาดแตกต่างกัน ผู้ทดลองต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับปริมาณของตะกอนตามปกติกระดาษกรองที่ใช้กันมากมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 9 ซม. และ 11 ซม. เมื่อกรองแล้วควรให้มีตะกอนบนกระดาษกรองประมาณ 3/4 ของกระดาษกรอง ดังนั้นจึงต้องพิจารณาก่อนว่าควรใช้กระดาษกรองชนิดใดจึงจะเหมาะสม
ได้กล่าวแล้วว่ากระดาษกรองมีหลายชนิด บางชนิดเนื้อหยาบบางชนิดเนื้อละเอียดและมีขนาดของรูพรุนแตกต่างกัน จึงต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับขนาดของตะกอนด้วย เช่น ถ้าใช้กระดาษกรองที่มีเนื้อหยาบ ผลึกหรือตะกอนที่มีขนาดเล็กจะผ่านไปได้ และการกรองจะเป็นไปอย่างรวดเร็วแต่ถ้าใช้กระดาษกรองที่มีเนื้อละเอียดการกรองจะดำเนินไปอย่างช้า ๆ ได้ตะกอนมากเนื่องจากจะมีตะกอนผ่านไปได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ด้วยเหตุนี้การเลือกใช้กระดาษกรองจึงควรคำนึงถึงชนิดของกระดาษกรองและอัตราเร็วในการกรองเป็นสิ่งสำคัญ
สำหรับกระดาษกรองที่มีผิวด้านหนึ่งเป็นผิวหยาบอีกด้านหนึ่งเป็นผิวละเอียดนั้น เมื่อเวลากรองจะต้องเอาด้านผิวหยาบขึ้นข้างขน ทั้งนี้เพื่อช่วยกระจายตะกอนไม่ให้ไปรวมกันตรงกันกรวย อันจะทำให้อัตราการกรองช้างลงได้
ต่อไปนี้จะขอยกตัวอย่างการเลือกใช้กระดาษกรองให้เหมาะสมกับลักษณะของตะกอนจากกระดาษกรองที่มีผู้ผลิต 3 แห่ง คือ W = กระดาษกรอง (Whatman, S&S = กระดาษ Schleicher and Schull และ RA = กระดาษ Reeve-Angle
ตาราง 1 การเลือกใช้กระดาษกรองให้เหมาะสมกับลักษณะของตะกอน (กระดาษกรองที่ใช้ในคุณภาพวิเคราะห์หรือที่ใช้ทั่ว ๆ ไป)
W S&S RA เนื้อ ความเร็ว ใช้สำหรับ 4 604 202 หยาบ เร็วมาก ตะกอนคล้ายวุ้น 1 595 271 ปานกลาง ปานกลาง ตะกอนเป็นผลึก 3 602 201 ปานกลาง ช้า ตะกอนเป็นผลึกละเอียด(นิยมใช้กับกรวยบุชเนอร์) ตาราง 2 การเลือกใช้กระดาษกรองให้เหมาะสมกับลักษณะของตะกอน (กระดาษกรอง ที่ใช้ในปริมาณวิเคราะห์)
W S&S RA เนื้อ ความเร็ว ใช้สำหรับ 41 589 บลูรินบอน - หยาบ เร็วมาก ตะกอนคล้ายวุ้น 40 589ไวรท์ริบบอน - ปานกลาง เร็ว ตะกอนเป็นผลึก 42 589 แบล็กกริบบอน - ปานกลาง ช้า ตะกอนเป็นผลึกละเอียด เนื่องจากกระดาษกรองไม่เหนียวจึงมีข้อเสียตรงที่มักจะขาดง่าย โดยเฉพาะเมื่อถูกกับ รีเอเจนต์บางชนิด นอกจากนี้กระดาษกรองยังดูดความขึ้นได้มาก การชั่งหาน้ำหนักของตะกอนบนกระดาษกรองจึงไม่ใช่น้ำหนักที่แท้จริง ดังนั้นจึงต้องเผากระดาษกรองให้เป็นขี้เถ้าเสียก่อนจึงจะนำไปชั่ง ซึ่งมีผลเสียตามมาก็คือเมื่อกระดาษกรองถูกเผาจะมีคาร์บอนเกิดขึ้น และมักจะไปรีดิวซ์โลหะที่เป็นองค์ประกอบของตะกอนได้ หากกระดาษกรองมีขี้เถ้ามากก็ไม่เหมาะสำหรับปริมาณวิเคราะห์
- Fritted glassware
-
Fritted glassware หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Sintered glass เป็นตัวกรองที่ทำจากผลแก้วโดยให้ความร้อนจนผงแก้วเริ่มหลอมติดกัน Fritted glassware มีรูพรุนหลายขนาด แต่ละขนาดใช้เหมาะกับสารที่จะนำมาแยกไม่เหมือนกัน เช่น รูพรุนขนาดใหญ่ (40-60 ไมครอน) ใช้กรองตะกอนขนาดปานกลางหรือผลึกที่มีปริมาณมาก ๆ รูพรุนขนาดปานกลาง (10-15 ไมครอน) ใช้กรองตะกอนที่ละเอียดมาก เช่น ตะกอนแบเรียมซัลเฟต (BaSO4) คิวปรัสออกไซด์ (Cu2O) และถ้าเป็นรูพรุนขนาดเล็ก (4-5.5 ไมครอน) ก็จะใช้กรองตะกอนชนิดที่ละเอียดที่สุด เป็นต้น
การใช้ Fritted glassware จะต้องใช้ด้วยความระมัดระวังเพราะอาจแตกได้ ก่อนนำไปใช้ควรล้างโดยการกรองด้วยแรงสุญญากาศ ด้วยกรดเกลือที่ร้อนแล้วล้างด้วยน้ำกลั่นอีกครั้งหนึ่ง เพื่อกำจัดฝุ่นผงที่เกาะติดอยู่และหลังจากใช้ Fritted glassware แล้วต้องนำมาทำความสะอาดทันที โดยใช้น้ำผ่านในทิศทางที่ตรงข้ามกับการกรอง ภายใต้ความดันไม่เกิน 15 ปอนด์/ตารางนิ้ว หากยังมีสิ่งสกปรกบางชนิดติดอยู่จะต้องกำจัดออกโดยใช้สารเคมีในตารางข้างล่างนี้
ตาราง 3 สารเคมีที่ใช้ทำความสะอาด Fritted glassware
สาร สารละลายทำความสะอาดที่ใช้ ไขมัน เททระคลอโรมีเทน สารอินทรีย์ ใช้สารละลายทำความสะอาดที่เข้มขนและร้อน สารพวกปรอท กรดไนทริกที่ร้อน เงินคลอไรด์ แอมโมเนียหรือโซเดียมไฮโปซัลไฟต์ - Membrane fillers
-
Membrane fillers มีโครงสร้างเป็นพอลิเมทริกหรือพลาสติกมีลักษณะเป็นแผ่นบางๆและมีความพรุนสูง รูพรุนมีขนาดสม่ำเสมอและมีหลายขนาดซึ่งผู้ทดลองจะต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสารที่ต้องการจะแยก เช่น ถ้าแยกโปรตีน ไอโซไซม์ เฮโมโกลบินหรือิมมูโนโกลบูลิน ออกจากสารละลาย ก็ต้องใช้ชนิดที่มีรูขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 ไมครอน แต่ถ้าจะใช้แยกจุลชีพก็ต้องใช้ชนิดที่มีรูขนาด 0.01-2.0 ไมครอน เป็นต้น
- การรินสารละลายในการกรอง
-
ก่อนจะกรองตะกอนอย่าให้ตะกอนในบีกเกอร์หรือในภาชนะไหลลงบนกระดาษกรอง เพราะตะกอนจะไปอุดรูพรุนของกระดาษกรอง ทำให้การกรองช้าลงได้ ดังนั้นก่อนกรองจึงควรตั้งสารละลายทิ้งไว้ให้ตะกอนนอนก้นก่อน แล้วค่อย ๆ เทลงไป พยายามให้ตะกอนทั้งหมดอยู่ในบีกเกอร์ วิธีการเช่นนี้เรียกว่า การริน มีวิธีทำเป็นขั้น ๆ ดังนี้
- ถือภาชนะบรรจุสารที่จะกรอง (อาจเป็นบีกเกอร์หรือหลอดทดลอง) ไว้มือหนึ่งและอีกมือหนึ่งถือแท่งแก้วคน
- เอียงบีกเกอร์จนกระทั่งของเหลวเกือบจะถึงปากบีกเกอร์
- ใช้แท่งแก้วสัมผัสกับปากบีกเกอร์ตรงบริเวณที่จะให้สารไหลลงมา และให้ปลายข้างหนึ่งของแท่งแก้วอยู่ในกรวยกรอง
ภาพลักษณะการรินสารละลายลงในกระดาษกรอง - เอียงบีกเกอร์ต่อไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งของเหลวสัมผัสกับแท่งแก้วและไหลลงสู่กรวยกรองอย่างช้า ๆ ถ้าจะหยุดเทจะต้องลากปากบีกเกอร์ถูกขึ้นไปตามแท่งแก้ว เพื่อป้องกันมิให้ของเหลวไหลออกมาทางด้านข้างของบีกเกอร์
- การล้างตะกอน
-
เมื่อรินสารละลายใส ๆ ลงในกระดาษกรองจนหมดแล้วควรล้างตะกอนที่อยู่ในบีกเกอร์ที่จะเทตะกอนลงไป วัตถุประสงค์ของการล้างตะกอนก็เพื่อกำจัดสารละลายที่ตะกอนอมไว้และสารไม่บริสุทธิ์อื่น ๆ ที่อยู่ติดกับตะกอนไปหมดไปก่อน ดังนั้นของเหลวที่จะใช้ในการล้างตะกอน จะต้องสามารถรวมเป็นเนื้อเดียวกันกับสารละลายที่ตะกอนอุ้มไว้ แต่ต้องไม่ละลายตะกอนเลย
การล้างตะกอนอาจล้างในบิกเกอร์ก็ได้ หลังจากรินสารละลายออกไปหมดแล้ว โดยการเติมของเหลวที่จะใช้ล้างตะกอนลงไปเล็กน้อย คนผสมเข้าด้วยกัน แล้วตัดทิ้งไว้ให้ตกตะกอน แล้วรินน้ำใส ๆ ลงในกระดาษกรองเพื่อความสะดวกในการริน จึงนิยมให้ตะกอนตกที่ก้นบีกเกอร์ด้านใดด้านหนึ่งก่อน โดยตั้งบีกเกอร์ให้เอียงเล็กน้อยตะกอนจะได้มารวมทางด้านเดียวกัน
ภาพลักษณะการวางบีกเกอร์เพื่อให้ตะกอนตกมารวมทางด้านเดียวกันการล้างตะกอนควรทำหลาย ๆ ครั้ง โดยใช้ของเหลวที่ใช้ล้างตะกอนครั้งละเพียงเล็กน้อยจะมีประสิทธิภาพในการกำจัดสารต่าง ๆ ที่ปนกับตะกอนได้ดีกว่าการล้างครั้งเดียวที่ใช้ของเหลวในปริมาเท่ากันกับการล้างตะกอนหลาย ๆ ครั้ง อนึ่งการล้างตะกอนนี้ควรทำในขณะที่ตะกอนยังเปียกหากทิ้งไว้จนตะกอนแห้งแล้วจะล้างตะกอนให้บริสุทธิ์ได้ยาก
- การถ่ายเทตะกอน
-
การถ่ายเทตะกอนจากบีกเกอร์ลงในกระดาษกรองทำให้ได้โดยการฉีดน้ำจากขวดน้ำล้างลงไป การฉีดน้ำนี้เป็นการชะไล่ตะกอนลงมาในตัวกรอง ให้ทั้งน้ำและตะกอนไหลตามกันลงมาตามแท่งแก้ว สู่ตัวกรอง ในตอนสุดท้ายอาจมีตะกอนเพียงเล็กน้อยติดอยู่ข้าง ๆ บีกเกอร์จึงต้องถูออกด้วยรับเบอร์โพลิชแมนจนสะอาด
โดยทั่วไปแล้วการกรองอาจทำได้ 2 วิธีคือ การกรองด้วยแรงดึงดูดของโลกและการกรองด้วยแรงสุญญากาศจะขอกล่าวถึงเทคนิคการกรองทั้ง 2 วิธีนี้ในหัวข้อต่อไป